King's College 1.33

90 หมู่ 2
Amphoe Sam Phran, 73110
Thailand

About King's College

King's College King's College is a well known place listed as Education in Amphoe Sam Phran ,

Contact Details & Working Hours

Details

ประวัติการก่อตั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับอยู่ประจำขึ้นโปรดให้จัดการศึกษาแบบพับลิคสคูล (Public School) ของอังกฤษ ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ หน้า ๒๖๙ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๓๙โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการมีการศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกหัดกุลบุตรให้เป็นสุภาพบุรุษ พระราชทานนามว่าโรงเรียนราชวิทยาลัย โปรดให้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า King’s College

สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (๒๔๔๐ – ๒๔๔๖)
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ขณะนั้นเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๔๐ ครูใหญ่คนแรกเป็นชาวอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ เอซิล การ์เตอร์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
อ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สถานที่ตั้งโรงเรียน เดิมเป็นจวนเก่าของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในตอนต้นรัชกาลที่ ๕
ต่อมาสถานที่เริ่มคับแคบทางกรรมการโรงเรียนจึงนำเรื่องกราบบังคมทูลทรงมีพระกรุณาพระราชทานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ ณ อำเภอสระปทุม จังหวัดพระนคร มีเนื้อที่ ๑๑๕,๔๔๒ ไร่ แต่โรงเรียนต้องปิดทำการสอนชั่วคราวในปี ๒๔๔๖ เพราะเกิดโรคระบาดแพร่ไปทั่วกรุงเทพฯ

สมัยสายสวลี (๒๔๔๗ –๒๔๕๓)
ทรงพระกรุณาให้เปิดโรงเรียน ณ โรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏ ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมืองพระนคร เป็นการชั่วคราว ส่วนโครงการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ที่สระปทุมก็ถูกยกเลิกเพราะเงินพระคลังข้างที่ขาด

สมัยบางขวาง (๒๔๕๔ –๒๔๖๘)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) กระทรวงยุติธรรมได้สร้างโรงเรียนกฎหมายแห่งใหม่ที่ตำบลบางขวาง นนทบุรี แต่ยังขาดครูและนักเรียนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจึงขอพระราชทานโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการให้โอนมาอยู่ในการปกครองของกระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อกำหนดว่านักเรียนต้องเรียนภาษาลาตินและวิชากฎหมาย
โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยบางขวาง เปิดเรียนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๕๔
ครูใหญ่คนที่ ๒ เป็นชาวอังกฤษชื่อ มิสเตอร์เอไตร มาร์ติน สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเสริมสร้างให้โรงเรียนราชวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง เป็นโรงเรียนเดียวในสยามที่ได้รับเกียรติให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในยุโรปได้โดยไม่ต้องสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นกับสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและทรงรับไว้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

การสิ้นสุดโรงเรียนราชวิทยาลัย
ในปี ๒๔๖๙ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพราะผลพวงจากสงครามโลก ครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง, โรงเรียนพรานหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปี ๒๔๗๔ คณะครูและนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย จดทะเบียนสมาคมราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยให้กลับคืนใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีอุปสรรคเรื่องเงินมาตลอดในปี ๒๕๐๑ สมาคมราชวิทยาลัย ได้มีมติตั้งราชวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนให้สำเร็จ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซาบซึ้งในเจตนาจึงดำเนินการมอบโรงเรียนเตรียมอุดมสามพรานให้ทั้งที่ดินและอาคาร

สมัยสามพราน (๒๕๐๗ ถึงปัจจุบัน)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ , พระยามานวราชเสวีฯ นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เข้าเฝ้ารับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ ทรงพระราชทานอักษรพระปรมาภิไธยย่อนำหน้าชื่อโรงเรียนราชวิทยาลัยและทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระภัทรมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ ณ ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และในปี ๒๕๑๗ สมาคมราชวิทยาลัยได้โอนโรงเรียนไปอยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการเช่นดังแรกกำเนิด ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๙ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๐ หมู่ ๒ ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บนเนื้อที่ ๖๖ ไร่ ๑๗๖ ตารางวา อยู่เชิงสะพานโพธิ์แก้ว ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนครชัยศรี(ท่าจีน) ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตก ๓๔ กิโลเมตร ห่างจากสวนสามพราน ประมาณ ๑ กิโลเมตร เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ ๕ ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ นักเรียนทุกคนต้องอยู่ประจำในหอพักของโรงเรียน ซึ่งเรียกว่าบ้าน มีทั้งหมด ๔ บ้าน แต่ละบ้านมีสีประจำบ้าน ได้แก่ บ้าน ๑ สีแสด บ้าน ๒ สีเหลือง บ้าน ๓ สีม่วง และบ้าน ๔ สีแดง โดยถือเอาสีประจำ วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์