วัดศรีคิรินทราราม 3.3

บ้านม่อนป่าก๋อย
Den Chai, 54110
Thailand

About วัดศรีคิรินทราราม

วัดศรีคิรินทราราม วัดศรีคิรินทราราม is a well known place listed as Buddhist Temple in Den Chai , Church/religious Organization in Den Chai , Religious Organization in Den Chai ,

Contact Details & Working Hours

Details

ประวัติวัดศรีคิรินทราราม

ภูมินาม วัดศรีคิรินทราราม มาจากภาษาบาลีคำว่า ศิริ + คิริ+อินทร+อาราม
ศิริ แปลว่า ความงดงาม
คิริ แปลว่า ภูเขา เนินเขา
อินทร แปลว่า เทพยดาผู้บำเพ็ญพรต
อาราม แปลว่า ที่อาศัย
ศรีคิรินทราราม แปลว่า เนินเขาเป็นที่อยู่อาศัยของเทพยดาผู้บำเพ็ญพรต

เป็นวัดที่ศรัทธาสาธุชนชาวเด่นชัย ร่วมมือกันจัดสร้างขึ้น ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔๐ บ้านม่อนป่าก๋อย หมู่ที่ ๑๑ ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

อาณาเขตของวัดมีดังนี้
ทิศเหนือ จรดทางเดินถนนคอนกรีต
ทิศใต้ จรดถนนยันตรกิจโกศล สายเด่นชัย – แพร่
ทิศตะวันออก จรดทางเดิน ถนนคอนกรีต
ทิศตะวันตก จรดทางเดิน ถนนคอนกรีต
สภาพที่ตั้งวัด เป็นที่ราบสูงเล็กน้อย ชาวพื้นบ้านจะเรียกว่า ม่อนป่าก๋อย (หมายถึงหัวกลอย) เพราะสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านม่อนป่าก๋อยส่วนใหญ่ อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านกาศเหนือ บ้านกาศใต้ บ้านม่วงเกษม บ้านตอนิมิต
อำเภอสูงเม่น มาตั้งหลักปักฐานจับจองที่ดินเพื่อทำการกสิกรรมและค้าขายอยู่บริเวณแห่งนี้ ได้อาศัยการขุดหัวเผือกหัวมันรวมถึงหัวกลอยที่มีอยู่จำนวนมาก มาใช้เป็นอาหารแทนการนึ่งข้าวเหนียว
หน้าวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นฝายน้ำล้นชื่อว่า ฝายแม่พวก และใกล้กับที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่
ส่วนหน้าวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโรงอบใบยาเด่นชัย และใกล้กับการประปาเด่นชัย ที่ทำการไปรษณีย์เด่นชัย
เป็นวัดที่อยู่ติดกับถนนใหญ่(ยันตรกิจโกศล) จึงสังเกตได้ง่าย โดยเฉพาะกำแพงวัดเป็นโคมไฟรูปสุพรรณหงส์อยู่
ความเป็นมาของวัด
วัดศรีคิรินทราราม ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔โดยมีพ่อหนานเทพ แม่เจ๊ย ศรีจันทร์กาศ ได้อุทิศที่ดินให้จำนวน๖ ไร่ ๔๙ ตารางวา และต่อมา พ่อบุญมี แม่บัวคำ สุวรรณกาศ ได้อุทิศที่ดินเพิ่มให้จำนวน ๒ งาน ๖๔ ตารางวาโดยมอบหมายให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างวัด คณะศรัทธาสาธุชนชาวเด่นชัย ซึ่งมีความเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงปู่พระครูศิริบุณยวัฒน์ ขณะนั้นอายุได้เพียง ๒๗ ปี มีพรรษา ๗ เท่านั้น ท่านเป็นชาวเมืองแพร่โดยกำเนิด จึงนิมนต์ให้มาประจำอยู่ และร่วมมือร่วมแรงกันก่อสร้างวัดขึ้นตลอดมา ทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองพัฒนา ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ
วัดศรีคิรินทราราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ และได้ทำพิธี ผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธี มีพระพุทธรูปองค์ประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย แบบสุโขทัย สร้างโดย พ่อเลี้ยงเกียรติ แม่เลี้ยงวิไล ตันจันทร์พงศ์ เป็นเจ้าภาพสร้าง เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยสมเด็จพระสังฆราชพระราชทานนามว่า พระศรีสุคตบรมศาสดา

ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา หลวงปู่ปลุกเสกได้ใช้บริเวณวัด เป็นสถานที่จัดงานประเพณีลอยกระทง โดยเริ่มแรกคณะกรรมการวัด ร่วมกับคนในชุมชนจะสามัคคีร่วมแรงร่วมใจพากันไปตัดไม้ไผ่ในป่า มาช่วยกันล้อมรั้วบริเวณที่จะจัดงานสวนสนุก กลุ่มคนหนุ่มสาว ก็พากันจัดตั้งคณะรำวงการกุศลหารายได้เข้าวัด และมีการหารายได้ภายในงานอีกหลายประเภท เช่น จับสลากสอยดาว เป็นต้น
โดยในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบสอง (หรือภาคเหนือเรียกว่าเดือนยี่) ก็จะมีขบวนแห่กระทงใหญ่ และการประกวดนางนพมาศ ที่กล่าวได้ว่าเป็นงานประเพณีลอยกระทงที่สนุกสนานที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ก็ได้ เป็นงานประเพณีที่มีผู้คนมาเที่ยวงานกันเป็นจำนวนมาก มีอยู่ปีหนึ่งที่สโมสรโรตารี่เด่นชัย ได้มาช่วยดูแลการจัดงานและสามารถเก็บค่าผ่านประตูรวมกับรายได้จากการจัดงานอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จึงได้นำไปจัดสร้างสาธารณะสงเคราะห์ โดยสร้างรั้วกำแพงรอบสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอเด่นชัย ไว้เป็นอนุสรณ์ว่านี่คือผลงานของการจัดงานประเพณีลอยกระทงของวัดศรีคิรินทราราม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลตำบลเด่นชัย)
ด้วยบารมีธรรมอันเกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ของหลวงปู่พระครูศิริบุณยวัฒน์ ประกอบกับทำเลที่ตั้ง เหมาะแก่การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา การคมนาคมสัญจรไปมาสะดวกมากขึ้น การพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งศาสนสถาน การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ วัดศรีคิรินทราราม ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางวัดก็ยังคงทำการพัฒนาวัดสืบต่อไปตามลำดับ จนกระทั่งได้รับพัด และประกาศ นียบัตรเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น จากสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗

ทรัพย์สินของทางวัด
พื้นที่ดินที่ตั้งวัด เดิมมีจำนวนทั้งหมด ๖ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา
ปัจจุบัน ได้รังวัดที่ดิน ออกโฉนดใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีจำนวนที่ดิน ๗ ไร่ ๑ งาน

มีอาคารเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้
อุโบสถ ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นแบบทรงไทย
หอกลอง ๑ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
ศาลาการเปรียญ หลังที่ ๑ สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
ศาลาการเปรียญ หลังที่ ๒ สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒
แบบทรงไทยประยุกต์ คอนกรีตเสริมเหล็ก
กุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น ๑ หลัง
กุฏิสงฆ์หลังเล็ก มี ๔ หลัง อยู่ได้หลังละ ๒ รูป
อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๑ หลัง แบบทรงไทย ๒ ชั้น ก่อด้วยอิฐถือปูนเสริมเหล็ก พื้นช่วงล่างเทปูนซีเมนต์ ชั้นบนปูพื้นไม้ กระดานไม้สัก ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๓๒ เมตร
หอระฆัง ๑ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ แบบทรงไทย เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
หอพระไตรปิฎกประจำอำเภอเด่นชัย สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๒





ปูชนียวัตถุ
พระศรีสุคตบรมศาสดา พระพุทธรูปองค์ประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย แบบสุโขทัย สร้างโดย พ่อเลี้ยงเกียรติ แม่เลี้ยงวิไล ตันจันทร์พงศ์ เป็นเจ้าภาพสร้าง เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยสมเด็จพระสังฆราชพระราชทานนาม นายช่างฟุ้ง บ้านช่างหล่อ เป็นผู้ปั้น และนายช่างณรงค์ โอฬาระวัติ เป็นผู้แกะสลักไม้สักเป็นซุ้มเรือนแก้ว







พระเพชรมหามงคล พระพุทธรูปองค์ประธานในศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนโดยมีคุณสุจินต์ ลีฬหาสุกิจ สร้างถวาย เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๕



พพระพุทธศรีปริยัติธรรม พระพุทธรูปองค์ประธานของโรงเรียนศรีคิรินทร์วิทยา ปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์










พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้
เนื้อทองสำริดสีคล้ายมันปู ได้มาจากพ่อหนานเทพ แม่เจ้ย ทราบแต่ว่า หลวงปู่ได้มาจากพระอุปัชฌาย์
ศรีจันทร์กาศ ขนาดหน้าตัก ๑๒ นิ้ว สูง ๑๒ นิ้วเช่นกัน
การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์
หลวงปู่ได้วางนโยบายในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเน้นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา และทรงไว้ซึ่งการสร้างศาสทายาทที่ดี เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา โดยใช้หลักว่า”ทางโลกก็ไม่ให้ช้ำ ทางธรรมก็ไม่ให้ขุ่น”ทางธรรม ก็ได้เปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม – บาลี โดยจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรในอำเภอเด่นชัย มีการสอนนักธรรม ชั้นตรี โท เอก ตามลำดับมา ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๖ มาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการเปิดสอนแผนกบาลี เพิ่มขึ้น
ทางโลก ได้เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ในพื้นที่อำเภอเด่นชัย ชื่อว่า “โรงเรียนผู้ใหญ่ศิริวัฒนศึกษา”
ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ยุบเลิกโรงเรียนผู้ใหญ่ศิริวัฒนศึกษา และได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ต่อกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาคณะสงฆ์ประจำอำเภอเด่นชัยจนกระทั่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามใบอนุญาตกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ. ๑๒/๒๕๔๐
ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ชื่อว่า“ โรงเรียนศรีคิรินทร์วิทยา ” ทำการเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. ๑ – ม. ๓) เริ่มเปิดทำการสอนตั้งแต่ ปีการศึกษา ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ได้ย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการ มาอยู่ใน สังกัดกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเอาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มจังหวัดแพร่ เข้าในโครงการพระราชดำริ ฯ ของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม ๒๕๕๒ ภายใต้การดูแลของสำนักงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ด้านการเผยแผ่ ทางวัดได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางศาสนา คือ มีการทำบุญตักบาตร แสดงพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน มีการเปิดสอนหนังสือพื้นเมืองเหนือ เปิดอบรมนักเรียนในโรงเรียนบริเวณใกล้เคียง มีการบรรพชาอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อนทุกปี นอกจากนั้นยังมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนในโรงเรียนวิไลเกียรติอุปถัมภ์ โรงเรียนเด่นชัยประชานุกูล โรงเรียนเด่นไชยวิทยา โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา เป็นประจำทุกปี ให้ความอนุเคราะห์แก่ศพผู้ยากจน มีหอสมุดทั่วไป เป็นที่อบรมพระนวกะ ประชุมพระสังฆาธิการ ลงอุโบสถประกอบสังฆกรรมของคณะสงฆ์อำเภอเด่นชัยตลอดมา
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเด่นชัย ได้ทำพิธีการเปิดป้ายสำนักงานไปเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธาน


มีคณะศรัทธาทั้งหมด ๔ ชุมชนคือ
๑. ชุมชนบ้านม่อนป่าก๋อย หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเด่นชัย
๒. ชุมชนบ้านม่อนป่าก๋อย หมู่ที่ ๗ ตำบลเด่นชัย
๓. ชุมชนบ้านม่อนป่าก๋อย หมู่ที่ ๙ ตำบลเด่นชัย
๔. ชุมชนบ้านจัดสรร หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่จั๊วะ